7 ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ แห่งปี 2010
1) ผลิตภัณฑ์แอนติออกซิแดนท์ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของสารแอนติออกซิแดนท์ไม่ว่าจะเป็นจากผัก ผลไม้หรือธัญพืช เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจะยังคงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่รักสุขภาพอยู่ในปีนี้เช่นกัน สารแอนติออกซิแดนท์นั้นมีรายงานวิจัยว่าสามารถลดการเกิดภาวะ oxidative stress ของร่างกายซึ่งมีผลทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นและ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจรวมทั้งโรคมะเร็ง ผลิตภัณฑ์อาหารผสมสารแอนติออกซิแดนท์ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมได้แก่ - แครนเบอรี่ (Cranberry) มีสารที่สำคัญ คือ proanthocyanin ซึ่งทำหน้าที่แอนติออกซิแดนท์ป้องกันเซลล์ถูกทำลายเนื่องจากสารอนุมูลอิสระ สารตัวนี้ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อ โดยป้องกันการเกาะติดของเซลล์แบคทีเรียกับผนังเซลล์ นอกจากนี้ แครนเบอรี่ยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามินซีและสารฟีนอลลิก อีกด้วย-ลูเตอิน (Lutein) พบมากในมะเขือเทศ เป็นสารแอนติออกซิแดนท์ธรรมชาติ ที่เชื่อว่าสามารถช่วยกระชับเซลผิวหนังไม่ให้ถูกทำลายจากภาวะออกซิเดชันเนื่องจากมลภาวะ การสูบบุหรี่หรือเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การบริโภคลูเตอินอย่างต่อเนื่องจึงช่วยให้ผิวหนังเปล่งปลั่งสวยจากภายในสู่ภายนอก-เบตา-แคโรทีน (Beta-carotene) พบในแครอท มะเขือเทศ เป็นพรีเคอร์เซอร์ (precursor) ของวิตามินเอ ทำหน้าที่เป็นแอนติออกซิแดนท์โดยจับอนุมูลอิสระ ดังนั้น จึงลดการทำลายของเซลล์และดีเอ็นเอ เนื่องจาก อนุมูลอิสระ
------------------------------------------------------------
2) ผลิตภัณฑ์ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกแคลเซียมและวิตามินดีช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกเสื่อม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และยังช่วยลดอาการอักเสบตามข้อต่อต่างๆ มีรายงานวิจัยที่พบว่าการบริโภคโอเมกาสาม สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเหล่านี้ได้ โดยโอเมกาสามทำหน้าที่ช่วยควบคุม pro-inflammatory cytokines นอกจากนี้งานวิจัยดังกล่าวยังรายงานว่า การบริโภคอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง และปริมาณโซเดียมต่ำ ช่วยลดโรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุได้ เมื่อเร็วๆ นี้มีผลิตภัณฑ์แคลเซียม-ฟอสฟอรัสในรูปผงอนุภาค 20 ไมครอน ได้ออกจำหน่าย เนื่องจากมีขนาดเล็กมากทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถบอกถึงความแตกต่างกลิ่น รส เนื้อสัมผัสได้เมื่อเติมลงในผลิตภัณฑ์อาหาร โดยแคลเซียมและฟอสฟอรัสนี้จะทำงานส่งเสริมกันในการควบคุมปริมาณแคลเซียมในเซลล์กระดูกให้เหมาะสม ผลิตภัณฑ์อีกประเภทที่จะมาแรงเป็นที่นิยมในปีใหม่นี้ คือ เครื่องดื่มถั่วเหลืองเสริมแคลเซียมรสผลไม้ โดยมีปริมาณแคลเซียมกับนม
-----------------------------------------------------------
3) ผลิตภัณฑ์ช่วยป้องกันโรคหัวใจโรคหัวใจเป็นโรคอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตมนุษย์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ประกอบกับการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งเสริมการป้องกันโรคหัวใจที่มีแนวโน้มจะมาแรงในปีนี้ ได้แก่-อัลมอนด์ (almond) ซึ่งอุดมด้วยไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูง เช่นเดียวกับไขมันที่พบในผลอะโวคาโดหรือน้ำมันมะกอก นอกจากนี้ อัลมอนด์ยังอุดมด้วยไฟเบอร์ คอปเปอร์และแมกนีเซียมอีกด้วย-เชียร์ (Chia) ชื่ออาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนัก เชียร์เป็นธัญพืช ปราศจากกลูเต็น (gluten) เป็นแหล่งของโอเมกาสาม มีส่วนประกอบของโปรตีน 20% ไขมัน 34% และ 25% ไฟเบอร์ เชียร์เชื่อว่าสามารถป้องกันโรคหัวใจและยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย-น้ำมันมะกอกชนิดพิเศษ (extra virgin olive oil) เป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัว และยังอุดมด้วยสารแอนติออกซิแดนท์จำพวกฟีนอล, แครอทีนอยด์ และวิตามินอี ช่วยลดการไขมันอุดตันเส้นเลือดหัวใจ ช่วยควบคุมน้ำหนัก เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และยังลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย-เนยขาวสุขภาพ เมื่อไม่นานมานี้มีเนยขาว (shortening) ผลิตจากน้ำมันคาโนลา ไม่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งแตกต่างจากเนยขาวชนิดอื่นที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ เนยขาวสุขภาพนี้ ทนความร้อนได้ดี จึงเหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ขนมอบ
------------------------------------------------------------
4) ผลิตภัณฑ์ที่เสริมความจำและการเรียนรู้ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะมาแรงเช่นเดียวกัน ผลิตภัณ์อาหารประเภทนี้ที่มีการผลิตออกมาล่าสุดนั้นเป็นการผสมกันของโอเมกาสาม 3 ชนิด คือ DHA, ALA, EPA ในรูปผง ไม่มีรสและสามารถทนต่อกระบวนการผลิตได้ดี จึงเหมาะใช้ผสมในผลิตภัณฑ์ขนมอบหรือธัญพืชชนิดแท่ง ซึ่ง DHA นั้นสกัดจากสาหร่าย สามารถช่วยในการพัฒนาสมอง ดังนั้น DHA จึงมีความเหมาะสำหรับกลุ่มมังสวิรัตและเด็กแรกเกิด สารผสมอาหารอีกตัวหนึ่งที่มาแรงไม่แพ้กัน คือ โคลีน (choline) โดยมีความสำคัญในกระบวนการสร้างผนังเซลล์ เป็นสารที่ช่วยส่งผ่านระบบประสาท จึงมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาระบบประสาทในวัยเด็กมาก
------------------------------------------------------------
5) ผลิตภัณฑ์ป้องกันการเกิดโรคเบาหวานอาหารจำพวกข้าวโอ๊ต ข้าวไรน์ ซูการ์บีท ซึ่งมีไฟเบอร์สูง สามารถช่วยควบคุมปริมาณกลูโคส อินซูลิน และไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดได้ นอกจากกลุ่มอาหารที่กล่าวมาแล้วนั้น ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจำพวก resistant starch จากข้าวโพดสามารถช่วยควบคุมน้ำหนัก ปริมาณไกลซีมิก ระบบการย่อยและสร้างสมดุลในการควบคุมปริมาณให้เหมาะสม โดยสตาร์ชชนิดนี้สามารถเติมลงในผลิตภัณฑ์จำพวกขนมปัง มัฟฟิน ซีเรียล แครกเกอร์ พาสตา โดยไม่ทำให้กลิ่นรส เนื้อสัมผัสของอาหารเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป
------------------------------------------------------------
6) ผลิตภัณฑ์เสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารเอนไซม์จำพวกโปรติเอส เซลลูเลส เฮมิเซลลูเลส อะไมเลส ไลเปส อาจเติมลงในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริมให้การทำงานของระบบย่อยอาหารเป็นไปได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ทดแทนกลูเต็นด้วยกัมชนิดต่างๆ เช่น แซนแทนกัม กัวร์กัม ก็เป็นที่น่าจับตามองเช่นเดียวกัน เนื่องจากปริมาณของผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน (celiac disease) โดยกัมจะทำหน้าที่แทนกลูเต็นในเรื่องของคุณสมบัติความยืดหยุ่น (elastic property), ความสามารถในการอุ้มอากาศทำให้ผลิตภัณฑ์ขึ้นฟูได้
------------------------------------------------------------
7) ผลิตภัณฑ์ให้พลังงานแก่ร่างกายและผลิตภัณฑ์สำหรับนักกีฬาเนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคหันมาเอาใจใส่สุขภาพกันมากขึ้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มให้พลังงานและผลิตภัณฑ์สำหรับนักกีฬาจึงมีการเติบโตเพิ่มขึ้น มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกวางตลาดมากขึ้น ได้แก่-ผลิตภัณฑ์ซึ่งเติมสาร Ubiquinol ซึงเป็นสารในรูปรีดิวซ์ของ Co-Q10 เป็นสารแอนติออกซิแดนท์และช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เหมาะสม-ผลิตภัณฑ์ซึ่งเติมพาลาติโนส (Palatinose) หรือเรียกอีกอย่างว่าไอโซมอลทูโลส (isomaltulose) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดไกลเซมิก (glycemic)ต่ำ และสามารถย่อยได้อย่างสมบูรณ์ (fully-digestible low-glycemic carbohydrate) พาลาติโนสให้พลังงานในรูปกลูโคส ช่วยส่งเสริมการเผาผลาญไขมันในระหว่างการออกกำลังกาย ดังนั้นจึงนิยมเติมลงในเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา-ผลิตภัณฑ์ไขมันสุขภาพ ซึ่งพัฒนาจากไตรกลีเซอร์ไรด์สายโซ่ขนาดกลาง (medium-chain triglyceride) ไม่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไขมันสุขภาพนี้สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทันที ให้พลังงานต่ำเนื่องจากร่างกายสามารถเมตาบอไลซ์ได้เพียง 1/8 เท่าของไขมันปกติ ดังนั้นจึงไม่สะสมในร่างกาย
--------------------------------------
เอกสารอ้างอิง วารสาร Prepared Foods, ธันวาคม 2552, 2010 Ingredients for Health Reference
ป้ายกำกับ: อาหารเพื่อสุขภาพ